พลิกดินอีสานปลูกปาล์มน้ำมัน ที่หนองบัวลำภู ของเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด บนพื้นที่กว่า 100 ไร่
<< ย้อนกลับ

วันที่เขียนข่าว : 13/09/2018
จำนวนผู้เข้าชม :  5767


              แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ได้ผลักดัน ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานปลูก "ปาล์มน้ำมัน" อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับโครงการยางพาราล้านไร่ก็ตาม อีกทั้งยังมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการถึงความเสี่ยงที่จะปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะความต้องการน้ำของปาล์มที่อาจส่งผลกระบถึงการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันที่อาจไม่สูงเทียบเท่าในถิ่นเดิมอย่างภาคใต้ รวมไปถึงเรื่องของโรงงานรองรับที่ยังเป็นข้อจำกัด แต่เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน และวันนี้หลายพื้นที่ปาล์มน้ำมันก็ได้ให้ผลผลิตกันแล้ว 
จากการสำรวจการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ปัจจุบันการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรได้ปลูกไปแล้วประมาณ 100,000 ไร่ กระจายอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ เลย อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร

 

เยี่ยมสวนปาล์ม 100 ไร่ ของเกษตรกรดีเด่น จ.หนองบัวลำภู

สวนปาล์มพื้นที่ 100 ไร่ ที่ว่านี้ก็คือสวนปาล์มน้ำมันศศิกานต์ ของ คุณสมโภชน์ กุลสุวรรณ เกษตรกรคนแรกใน อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู.ที่หันมาปลูกปาล์มเมื่อ 5 ปีที่แล้ว วันนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันจากสวน "ศศิกานต์" กำลังให้ผลผลิตเต็มต้น ยืนยันว่าดินอีสานก็ปลูกปาล์มได้ ซึ่งผลสำเร็จทำให้เขาได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรสาขาทำสวนดีเด่นระดับ จ.หนองบัวลำภู ปี 2554 
คุณสมโภชน์ หนุ่มแดนใต้ อดีตนักศึกษาช่างกล สถาบันเทคนิคปทุมวัน กรุงเทพฯ กับก้าวเดินในฐานะเกษตรกรตัวอย่างบนดินแดนที่ราบสูง ผู้บุกเบิกผืนดินอีสาน หลังแต่งงานกับคู่ชีวิตชาว อ.ศรีบุญเรือง คุณสมโภชน์ได้เดินทางมาอยู่ที่บ้านแฟน และได้พลิกผืนดินกว่า 100 ไร่ ให้เป็นสวนปาล์มน้ำมันในชื่อสวน "ศศิกานต์" เป็นแห่งแรกของ จ.หนองบัวลำภู ด้วยหลักคิดที่ว่าผืนดินใดมีน้ำก็ทำการเกษตรได้
จากผลผลิตของสวนปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วในพื้นที่ 120 ไร่ ทำให้ปีนี้คุณโภชน์ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่อีก 50 ไร่

 

ปลูกปาล์มในพื้นที่อีสานต้องเลือกพันธุ์ให้เหมาะสม

คุณสมโภชน์เองมีการศึกษาข้อมูลของสายพันธุ์ปาล์มอย่างละเอียดเช่นกัน ก่อนที่จะเลือกปาล์มพันธุ์ "คอมแพคไนจีเรีย” มาปลูก ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เป็นปาล์มที่เจริญเติบโตในพื้นที่แห้งแล้งอย่างไนจีเนียได้เป็นอย่างดี นับเป็นปาล์มที่ทนต่อต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้องการน้ำน้อยกว่าพันธุ์อื่น เป็นต้นปาล์มที่ต้นเตี้ย ทางใบสั้น และให้ผลผลิตสูง โดยผลผลิตของปาล์มพันธุ์นี้ในช่วงที่ให้ผลผลิตเต็มที่ (7 ปีขึ้นไป) จะให้ผลผลิต 5-5.6 ตัน/ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับพันธุ์ของยูนิวานิช ขณะที่ปาล์มพันธุ์สุราษฏร์ธานี 1 ให้ผลผลิต 3.4 ตัน/ไร่ สุราษฏร์ธานี 2 ให้ผลผลิต 2.9 ตัน/ไร่ จึงนับว่าคอมแพคไนจีเรียเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่แห้งแล้งอย่างอีสาน โดยคุณสมโภชน์สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศในรูปแบบเมล็ดพันธุ์บรรจุแคปซูลอย่างดี ในราคาเมล็ดละ 100 บาท จำนวน 3,000 เมล็ด มาเพาะเมล็ดเป็นต้นพันธุ์เอง ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การงอก 100% ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี จึงนำไปปลูกในพื้นที่ 120 ไร่ ในปี พ.ศ. 2548



ที่มาของข่าว : http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539824503&Ntype=8